เชื่อว่าทุกคนฝันอยากมีคอนโดหรือบ้านเป็นของตัวเอง และด้วยฐานเงินเดือนในปัจจุบันความฝันที่ว่าอาจไม่ไกลเกินเอื้อม แต่หากคุณมีฐานเงินเดือนไม่สูงมาก หรือมีภาระค่าใช้จ่าย ภาระหนี้สินอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ย่อมส่งผลให้ความสามารถในการผ่อนชำระกับสถาบันการเงินลดลง เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางออกที่ดีที่สุด คือ การหา “ผู้กู้ร่วม” ซึ่งก่อนหาผู้กู้ร่วมลองไปดูกันว่า คุณควรรู้อะไรบ้าง

กู้ร่วม คืออะไร?

เป็นการเพิ่มผู้กู้เข้าในสัญญาซื้อขายคอนโดหรือบ้าน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือเรื่องการชำระหนี้ของผู้กู้หลัก โดยกรณีที่จำเป็นต้องมี “ผู้กู้ร่วม” มักเกิดจากผู้กู้หลักมีฐานรายได้ไม่สูงมาก ประกอบกับมีภาระหนี้สินอื่น ๆ จำต้องมีบุคคลอื่นเข้ามาร่วมเป็นลูกหนี้ด้วย เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถอนุมัติวงเงินได้ตามที่ผู้กู้ต้องการ ทั้งนี้ ผู้กู้ร่วมสามารถมีได้สูงสุดไม่เกิน 3 คน

ผู้กู้ร่วม สามารถเป็นใครได้บ้าง

(1) บิดามารดา

(2) พี่น้องผู้ร่วมสายโลหิตเดียวกัน แม้คนละนามสกุลก็สามารถกู้ร่วมได้ เพียงแสดงเอกสารที่ระบุว่ามีบิดามารดาคนเดียวกัน อาทิ สูติบัตร หรือทะเบียนบ้าน

(3) สามีภรรยา หากมิได้มีการจดทะเบียนสมรสก็สามารถเป็นผู้กู้ร่วมได้ เพียงต้องมีหลักฐานมายืนยันว่าเป็นสามีภรรยาจริง อาทิ ภาพหรือเอกสารที่เกี่ยวกับการจัดงานแต่งงาน เป็นต้น

(4) เครือญาติที่มีนามสกุลเดียวกัน

(5) ชาวต่างชาติที่จดทะเบียนสมรสกับคนไทย สามารถกู้ร่วมได้เฉพาะอาคารชุดหรือคอนโดเท่านั้น ซึ่งนอกจากกู้ร่วมได้แล้ว ชาวต่างชาติสามารถมีกรรมสิทธิ์ได้เช่นกัน แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งระบุให้ คอนโดมิเนียมโครงการหนึ่งมีการถือครองโดยชาวต่างชาติได้ในสัดส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 49 ของยูนิตทั้งหมดเท่านั้น

คู่รักเพศเดียวกัน สามารถกู้ร่วมกันได้หรือไม่

สถาบันการเงินหลายแห่งยังไม่อนุมัติให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถ “กู้ร่วม” ได้ โดยให้เหตุผลว่า คู่รักเพศเดียวกัน ไม่เข้าตามกฎเกณฑ์ของธนาคารที่กำหนดให้ผู้กู้ร่วมจะต้องมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ แต่ปัจจุบันมีสถาบันการเงิน 5 แห่งที่ไม่ปฏิเสธการกู้บ้านร่วมกันของคู่รักเพศเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขและรายละเอียดที่แตกต่างกันไป คือ ธนาคารยูโอบี ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย

ความรับผิดชอบของผู้กู้ร่วม

  • ต่อผู้กู้ร่วมด้วยกันเอง

ผู้กู้แต่ละคนต้องแบ่งความรับผิดชอบกันคนละครึ่ง คือ ตามจำนวนเงินที่กู้มาจากสถาบันการเงิน อาทิ เข้าทำสัญญากู้เงินจากสถาบันการเงินร่วมกัน 3 คน เป็นจำนวน 1.8 ล้านบาท ย่อมเท่ากับว่า ระหว่างผู้กู้ร่วมต้องรับผิดชอบคนละ 6 แสนบาท ถ้าผู้กู้คนได้คนหนึ่งชำระหนี้ให้สถาบันการเงินเต็มจำนวน 1.8 ล้านบาท ผู้กู้คนดังกล่าวก็สามารถไปเรียกเงินคืนจากผู้กู้อีก 2 คนที่เหลือได้ (คนละ 6 แสนบาท)

  • ต่อธนาคาร

การที่คุณลงชื่อเป็น “ผู้กู้ร่วม” หมายถึง คุณยอมรับการเป็นหนี้กันคนละครึ่งกับผู้กู้อีกคน อาทิ กู้เงินมา 1.5 ล้านบาท เท่ากับเป็นหนี้คนละ 7.5 แสนบาท ฉะนั้น ความรับผิดชอบของผู้กู้ต่อธนาคารคือการชำระหนี้ให้ตรงและไม่ให้ขาด แต่หากวันใดผู้กู้อีกคนไม่สามารถชำระหนี้ได้ สถาบันการเงินจะเรียกให้หนึ่งในผู้กู้ชำระหนี้แทน อาทิ กู้เงินมา 1.5 ล้านบาท แต่ผู้กู้อีกคนไม่เคยชำระหนี้เลย สถาบันการเงินอาจเรียกให้ผู้กู้ชำระคนละครึ่ง หรือเรียกเต็มจำนวน 1.5 ล้านบาท จากผู้กู้คนใดคนหนึ่ง และถ้าผู้กู้คนใดชำระหนี้ให้สถาบันการเงินทั้งสิ้น 1.5 ล้านบาท ก็สามารถไปเรียกเงินจำนวน 7.5 แสนบาท คืนจากผู้กู้อีกคนได้ในภายหลัง

สามารถถอนชื่อจากการเป็นผู้กู้ร่วมได้หรือไม่

สามารถทำได้ เพียงแต่ยังไม่มีสิทธิ์ถอนชื่อจนกว่าสถาบันการเงินจะพิจารณาแล้วเห็นว่าความสามารถในการผ่อนชำระของผู้กู้ที่เหลือเพียงพอในการชำระหนี้ โดยส่วนใหญ่หากมีการผ่อนชำระมาหลายปีหรือใกล้หมด สถาบันการเงินมักอนุญาตให้ถอนชื่อ

แต่ถ้าเพิ่งเริ่มผ่อนไม่กี่ปี และวงเงินเหลือค่อนข้างสูง ประกอบกับรายได้ผู้กู้ที่เหลือไม่เพียงพอกับเกณฑ์สถาบันการเงิน จำเป็นต้องหาบุคคลอื่นเข้ามาเป็นผู้กู้ร่วมแทน ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาของสถาบันการเงินว่ามีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ ทั้งนี้ หากคุณสมบัติไม่ผ่าน สถาบันการเงินอาจใช้สิทธิ์ไม่อนุญาตให้เปลี่ยนชื่อได้

อย่างไรก็ดี ก่อนที่มีการถอนชื่อออกจากการเป็นผู้กู้ร่วม ผู้กู้ทั้งหมดต้องตกลงกันก่อนว่าสุดท้ายแล้วกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวจะตกเป็นของผู้ใดกันแน่

กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน

สำหรับเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เมื่อมีการกู้ร่วมนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ

(1) ใส่ชื่อผู้กู้คนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์

(2) ใส่ชื่อผู้กู้ทุกคนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน

โดยกรรมสิทธิ์แบบที่ 2 นั้น หากในเวลาต่อมา ผู้กู้คนหนึ่งมีความประสงค์จะขายคอนโดหรือบ้าน จำต้องได้รับความยินยอมจากผู้กู้หรือผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมทุกคนเสียก่อน

เมื่อผู้กู้ร่วมเสียชีวิต ต้องทำอย่างไร?

สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรกเมื่อผู้กู้ร่วมเสียชีวิต คือ แจ้งให้สถาบันการเงินรับทราบ เพื่อให้มีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงสัญญาใหม่ โดยมีแนวทางดำเนินการต่อดังนี้

  • เรียกให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้เสียชีวิตเข้ามาลงชื่อ เพื่อแสดงเจตนารับสภาพหนี้ภายใน 1 ปี

แม้ทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะได้แสดงเจตนารับสภาพหนี้แล้ว แต่ขั้นตอนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องรอสถาบันการเงินประเมินก่อนว่า ทายาทมีความสามารถในการชำระหนี้ในฐานะผู้กู้ร่วมหรือไม่ ส่วนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น เมื่อทายาทเข้ามารับสภาพหนี้ด้วย กรรมสิทธิ์ย่อมตกทอดไปสู่ทายาทด้วยเช่นกัน

  • กรณีทายาทของผู้เสียชีวิต ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

ผู้กู้ที่เหลือสามารถหาผู้กู้ร่วมคนใหม่มาช่วยผ่อนชำระหนี้ต่อได้ทันที แต่ต้องเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติเท่านั้น โดยเมื่อแจ้งความประสงค์ต่อสถาบันการเงิน ก็เป็นขั้นตอนประเมินความสามารถการผ่อนชำระ

  • กรณีไม่ดึงทายาทของผู้เสียชีวิต เข้ามาร่วมรับสภาพหนี้

เป็นกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อผู้กู้ร่วมที่เหลือได้ตกลงกันว่ายินยอมที่จะผ่อนชำระหนี้สินในส่วนของตนและส่วนของผู้กู้ร่วมที่เสียชีวิต แม้จะทำเช่นนี้ แต่กรรมสิทธิ์ครึ่งหนึ่งก็ยังคงเป็นของทายาทของผู้เสียชีวิตอยู่

Cr. https://www.sanook.com/women/226389/

 

ARE YOU INTERESTED

IT'S TIME TO DISCOVER

THE BUILDING

BUILDING LOCATION

Motivation can take you far, but it can take you even further if you first find your vision. Your vision will motivate and guide you on

ADDRESS:

Logan Barker, 865 Oak Boulevard, Elk Grove, Vermont 95184
Phone:

012-345-6789

E-mail:

email.support@maisonco.com

CONTACT AGENT

William Jacobs

CERTIFIED AGENT

ENQUIRE

©trangvillage. All rights reserved.