การผ่อนบ้าน เรียกได้ว่าเป็น หนี้ก้อนใหญ่ ที่คนทั่วไปมักจะมีในช่วงชีวิตนึง เพราะบ้านถือเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่เราต้องใช้อยู่อาศัยอยู่แล้วนะคะ ซึ่งการผ่อนบ้านกับธนาคารนั้น สิ่งที่ธนาคาร (เจ้าหนี้) ได้ ก็คือ “ดอกเบี้ย” นั่นเอง แล้วเราจะทำอย่างไรให้เราเสียเงินกับธนาคารน้อยที่สุดกัน อันนี้น่าจะเป็นคำถามที่ใครหลายคนอยากรู้ และวันนี้เรามาอ่านบทความนี้กัน


ในทุกๆ ขณะที่เราอยู่ในสถานะความเป็นลูกหนี้ เราอยากให้ทุกคนมีความเตรียมพร้อมและรู้ตัวเสมอว่าเราจะต้องเตรียมตัวอะไรบ้างสำหรับการผ่อนบ้าน เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยน้อยที่สุด โดยเราของแบ่งช่วงออกเป็น 3 ช่วงดังนี้ค่ะ

  • ก่อนซื้อ : สิ่งที่เราต้องทำคือ การเลือกโปรแกรมสินเชื่อบ้าน ของธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยถูกที่สุด
  • ซื้อแล้วในช่วง 1-3 ปีแรก : พยายาม “โปะ” เงิน หรือจ่ายมากกว่าค่าผ่อนบ้านรายเดือนที่ธนาคารกำหนด จะช่วยลดดอกเบี้ยได้ดีมาก เนื่องจากการผ่อนบ้านเป็นการจ่ายแบบลดต้นลดดอก (หมายถึงหากจ่ายแบบโปะไปจะไปลดเงินต้นทันที ทำให้เวลาคิดดอกเบี้ยที่คิดจากเงินต้นน้อยลงไปด้วย)
  • หลังจาก 1-3 ปี : ในช่วง 1-3 ปีแรก อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารให้มาจะเย้ายวนมาก คืออัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่หลังจาก 3 ปีแล้ว ก็จะสูงขึ้นเกือบเท่าตัว ซึ่งเราควรมาพิจารณาเรื่องการ Refinance (ย้ายธนาคารเพื่อได้ดอกเบี้ยต่ำ) หรือขอ Retention (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารเดิม)

ก่อนซื้อ

สำหรับคนที่พึ่งจะตัดสินใจซื้อบ้าน จริงๆ เราคิดว่าหลายคนน่าจะทราบอยู่แล้ว คือ เลือกธนาคารที่ให้เรทดอกเบี้ยเราต่ำที่สุด และนั่นก็คือคำตอบแล้วนะคะ

แล้ววิธีการดู ต้องดูอย่างไร?

นำอัตราดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารมาเปรียบเทียบ

เราลองสมมติธนาคารและตัวเลขขึ้นมา โดยมีการอ้างอิงตัวเลขสินเชื่อบ้านของธนาคารทั่วไปอยู่นะคะ สำหรับใครที่ยังไม่เคยเห็นตารางหน้าตาแนวนี้มาก่อน เราจะค่อยๆ อธิบายไปทีละ Step นะคะ

หลักๆ แล้วดอกเบี้ย เราจะ Focus กันที่ 1-3 ปีแรก ดังนั้นจะเห็นว่าตารางแบ่งออกเป็น ปีที่ 1, ปีที่ 2, ปีที่ 3 และหลังจากปีที่ 3 เป็นต้นไป ที่ Focus 3 ปีแรกนั่นก็เพราะว่าหลังจากที่เราตกลงเซ็นสัญญากับธนาคารไหนแล้วก็ตาม จะมีกฎระเบียบว่าเราต้องอยู่กับธนาคารนั้นไป 3 ปีเป็นอย่างต่ำ หากเราจะย้ายธนาคาร (Refinance) ก่อน 3 ปีจะมีค่าปรับอยู่ ดังนั้นส่วนใหญ่เราจะอยู่กันถึง 3 ปี แล้วค่อยคิดย้ายธนาคารหรือปรับลดดอกเบี้ยนะคะ

ถัดมาเรามาดูกันว่าโปรแกรมไหน ของธนาคารไหน ที่เราจะเสียดอกเบี้ยน้อยที่สุด

1.สำหรับคนที่วางแผนผ่อนระยะยาวเกิน 3 ปีแน่นอน : ให้ดูอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี อันไหนน้อยที่สุด ซึ่งจากตารางด้านบนจะเป็นธนาคาร ข. โปรแกรมแรกนั่นเอง

2.สำหรับคนที่ตั้งใจจะจ่ายให้ครบก่อนสัญญา : ให้ดูว่าเราตั้งใจจะผ่อนระยะยาวแค่ไหน เช่นกรณี เราตั้งใจซื้อมาเพื่อจะขายต่อในระยะไม่นาน 1 ปี ไม่เกินนี้ ให้เราเลือกธนาคารที่มีโปรแกรมช่วงปีแรกดอกเบี้ยน้อยที่สุด เพื่อที่ในระยะเวลาที่เราผ่อนนั้นจะเสียดอกเบี้ยน้อยที่สุด ไม่ต้อง Focus ที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี

อย่างกรณีตารางด้านบน สำหรับคนที่ตั้งใจจะจ่ายให้ครบก่อนสัญญา ธนาคาร ก. โปรแกรม 1 ที่ปีแรกจะเสียดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.745% ต่อปี เท่านั้น และ ธนาคาร ค. โปรแกรม 1 ที่เสียดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.71% ต่อปี ก็อยู่ในเรทที่น่าสนใจ

สิ่งที่ควรรู้

MRR = Minimum Retail Rate อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ซึ่งเรท MRR แต่ละธนาคารจะไม่เท่ากัน โดยเราจะเอา MRR มาลบกับตัวเลขที่ธนาคารกำหนด จึงจะได้อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจริง โดย MRR สามารถขึ้น-ลงได้ตามธนาคารกำหนด ทำให้ดอกเบี้ยมีความไม่แน่นอน เราเรียกกันว่า ดอกเบี้ยลอยตัว

MRTA = ประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ หรือประกันชีวิตที่มีจุดประสงค์ในการคุ้มครองผู้ขอสินเชื่อเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินให้กับผู้กู้ (เรา) และผู้ให้กู้ (ธนาคาร) ตามจำนวนเงินทุนประกันและระยะเวลาในการทำประกัน

**ซึ่งเราแนะนำให้ทำนะคะ เผื่อกรณีเราเป็นอะไรไป คนข้างหลังจะได้ไม่ต้องเดือดร้อนในการผ่อนบ้านต่อจากเรา หรือโดนธนาคารยึดทรัพย์สินไปหากไม่มีกำลังผ่อนต่อค่ะ และยิ่งเป็นวัยหนุ่มสาวแล้วประกันนี้ราคาไม่แพงเลย


อยู่ในระหว่างการผ่อน 1-3 ปี

หลังจากที่เลือกโปรแกรมสินเชื่อของธนาคารแล้วตกลงเซ็นสัญญากันมาสักพักและอยู่ในระหว่างช่วง 1-3 ปีแรก ยังถือเป็นช่วงเวลาที่เราได้ดอกเบี้ยในอัตราน่ารัก ไม่แรง เรทที่ควรเลือกคือไม่เกิน 4% ต่อปี ซึ่งในระหว่างนี้บอกเลยว่าเป็น “เวลาทอง” สำหรับคนมีวินัยสูง ย้ำว่า วินัยสูง โดยในที่นี้เราหมายถึง ช่วงเวลาที่เรียกว่าการ “โปะ” บ้าน นั่นเองค่ะ

เพราะยิ่งดอกเบี้ยน้อยอยู่แล้ว การโปะบ้านจะทำให้ยอดเงินต้นน้อยลงตามไปด้วย ทำให้ดอกเบี้ยที่เราจะต้องเสียก็น้อยตามลงไปโดยปริยายเช่นกัน

คุณจินผ่อนบ้านราคา 3 ล้านบาท ในระยะเวลา 20 ปี (240 งวด) คุณจินต้องผ่อนต่องวดประมาณ 17,400 บาท/เดือน กรณีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่คุณจินจ่ายอยู่ที่ 3.5% ต่อปี

ดอกเบี้ยที่คุณจินต้องจ่ายทั้งหมดจนครบสัญญาจะอยู่ที่ประมาณ : 1,175,000 บาท

ถ้าคุณจินโปะเงินอีก 5% ต่อเดือน คิดเป็น 870 บาท ในอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจะอยู่ที่ประมาณ : 1,089,000 บาท ประหยัดไป 86,000 บาท
และจำนวนงวดผ่อนเหลืออยู่ 224 งวด = ผ่อนเร็วขึ้น 1 ปี 4 เดือน

ถ้าคุณจินโปะเงินอีก 10% ต่อเดือน คิดเป็น 1,740 บาท ในอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจะอยู่ที่ประมาณ : 1,015,000 บาท ประหยัดไป 160,000 บาท
และจำนวนงวดผ่อนเหลืออยู่ 210 งวด = ผ่อนเร็วขึ้น 2 ปี 6 เดือน

จะเห็นว่าเพียงแค่เราโปะ 10% ของค่างวด ในอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิมก็ทำให้ประหยัดเวลาในการผ่อนไปได้ประมาณ 2.5 ปี และลดดอกเบี้ยได้ประมาณ 14% ของดอกเบี้ยเดิมแล้วนะคะ แต่ในกรณีที่ดอกเบี้ยเรามีปรับสูงขึ้นเป็นขั้นบันไดการผ่อนบ้านโดยการค่อยๆ โปะแบบนี้จะลดดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายได้มากขึ้นอีก


หลังจากผ่อนมาได้ 3 ปีแล้ว

สำหรับคนที่ผ่อนชำระบ้านมาได้เป็นระยะเวลาเกิน 3 ปีขึ้นไป ช่วงเวลานี้เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่เราจะต้องหันกลับมาทำการบ้านหนักอีกครั้ง เหมือนช่วงก่อนจะตัดสินใจกู้ซื้อบ้านตอนแรกเลยค่ะ เพราะว่า อัตราดอกเบี้ย หลังจาก 3 ปีไปแล้ว ไม่น่าเย้ายวนเหมือนช่วง 3 ปีแรกแล้ว ส่วนใหญ่ทุกธนาคารหลังจาก 3 ปีแล้ว เรทดอกเบี้ยจะสูงขึ้นมาอยู่ที่ 5-6% ต่อปีเลยทีเดียว ซึ่งก็เกือบเท่าตัวเลยก็ว่าได้

สิ่งที่เราทำได้มี 2 อย่าง

  • Retention กับธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้เราปัจจุบัน 

Retention คือ การขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารปัจจุบัน

โดยวิธีการง่ายมาก คือ เข้าไปธนาคารสาขาไหนก็ได้แล้วคุยกับเจ้าหน้าที่ หรือไม่สะดวกเข้าสาขาก็โทรเข้า Call Center แบบเราเลย แล้วบอกกับเจ้าหน้าที่ว่าเราต้องการขอ Retention จากนั้นในรายละเอียดของเราไปเล็กน้อย ทางธนาคารจะไปพิจารณาลดดอกเบี้ยให้เราเองค่ะ อาจจะใช้เวลาระยะนึง ทางธนาคารจะแจ้งกลับมาว่าจะลดให้เราได้เท่าไหร่

**ขึ้นอยู่กับธนาคารนั้นๆ รวมไปถึงขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการชำระหนี้ของเราด้วย หากเป็นลูกหนี้ที่ดี เรามีโอกาสต่อรองได้สูงนะคะ เนื่องจากธนาคารเองก็ไม่อยากให้ลูกค้าดีๆ ของธนาคารย้ายไปธนาคารอื่นเช่นกัน

  • Refinance กับธนาคารอื่น

Refinance คือ การย้ายไปผ่อนกับธนาคารอื่นที่คิดอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าธนาคารเดิมของเรา

รูปแบบการ Refinance มีแบบไหนบ้าง 

ตารางใช้สำหรับอ้างอิงเท่านั้น

แล้วเราควรเลือกแบบไหน?

1. สิ่งแรกที่เราแนะนำโดยส่วนตัวคือ ตัด Choice ไม่ทำประกัน MRTA ออกก่อน
เพราะประกัน MRTA ควรจะต้องทำเพื่อไม่ให้เป็นภาระคนข้างหลัง
(ในกรณีกลับกัน ถ้าคุณเป็นคนโสดไม่มีญาติมิตร แล้วคิดว่าหากเป็นอะไรไปก็ไม่มีคนดูแลบ้านอยู่แล้ว จะไม่ทำก็ได้นะ อันนี้ขึ้นอยู่กับ Lifestyle ของแต่ละคนเลยค่ะ แต่อย่าลืมว่าส่วนใหญ่ดอกเบี้ยไม่ทำประกันจะสูงกว่าทำประกันนะคะ)

MRTA = ประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ หรือประกันชีวิตที่มีจุดประสงค์ในการคุ้มครองผู้ขอสินเชื่อเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินให้กับผู้กู้ (เรา) และผู้ให้กู้ (ธนาคาร) ตามจำนวนเงินทุนประกันและระยะเวลาในการทำประกัน

2. ตอบคำถามตัวเองว่าจะผ่อนจบหนี้จบภายใน 3 ปี หรือผ่อนระยะยาวเกิน 3 ปี

ที่ให้ถามคำถามนี้ก็เพราะว่า จะได้เลือกรูปแบบจดจำนอง หรือ ฟรีจดจำนอง นั่นเองค่ะ เดี๋ยวเราจะทำข้อสรุปให้เข้าใจทั้ง 2 รูปแบบนี้กันก่อนนะคะ

**ค่าจดจำนอง = 1% ของราคาบ้าน
สมมติบ้านราคา 3 ล้านบาท ค่าจดจำนอง = 30,000 บาท

ข้อดี สำหรับรูปแบบจดจำนอง

  • สามารถ Refinance ไปธนาคารอื่นหรือปิดหนี้ได้ภายใน 3 ปี
  • ส่วนใหญ่จะได้ดอกเบี้ยต่ำกว่ารูปแบบฟรีค่าจดจำนอง

ข้อเสีย สำหรับรูปแบบจดจำนอง

  • เสียเงินก้อน (หลายคนไม่อยากเสียตรงนี้ เพราะบางทีราคาบ้าน 6 ล้านบาท ก็เสีย 60,000 บาท นับว่าค่อนข้างสูงสำหรับใครหลายคน)

เหมาะกับ : คนที่ต้องการผ่อนบ้านให้หมดภายใน 3 ปีข้างหน้า และมีเงินสำรองสำหรับการเสียค่าจดจำนอง เพื่อให้ได้อัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุด

ข้อดี สำหรับรูปแบบฟรีค่าจดจำนอง

  • ไม่เสียเงินก้อนใหญ่ (แต่เราต้องมีสำรองไปจ่ายกรมที่ดินก่อน แล้วธนาคารจะทำการคืนให้ภายหลังประมาณ 2-8 อาทิตย์ขึ้นอยู่กับธนาคารนั้นๆ)

ข้อเสีย สำหรับรูปแบบฟรีค่าจดจำนอง

  • ต้องอยู่กับธนาคารอย่างต่ำ 5 ปี (ไม่สามารถ Refinance ได้ นอกจากยอมเสียค่าจดจำนองให้ธนาคารในช่วงปีที่ 4-5 จึงสามารถ Refinance ได้)
  • ส่วนใหญ่ดอกเบี้ยจะสูงกว่ารูปแบบจดจำนอง

เหมาะกับ : คนที่จะผ่อนบ้านระยะยาวเกิน 5 ปี และไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินหลักหลายหมื่นสำหรับการ Refinance

**เสริม : จากที่เราไปสำรวจมาในหลายธนาคาร เราเห็นบางโปรแกรมของธนาคาร เรียกได้ว่าเงินที่เราต้องเสีย จดจำนอง = ฟรีจดจำนอง เลยเพียงแต่จดจำนองเราจ่ายเองเป็นเงินก้อน แต่ฟรีจดจำนองเราค่อยๆ ผ่อนกับธนาคารที่ออกให้เราก่อน ในรูปแบบการจ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมาเล็กน้อย พอลองคำนวณแล้วแทบจะไม่ต่างกันเท่าไหร่เลยค่ะ

ดังนั้นถ้าใครคิดว่าจะผ่อนระยะยาวเกิน 3 ปีแน่ๆ เลือกแบบฟรีจดจำนองไปก็ได้นะคะ แล้วปีที่ 4-5 ค่อยของ Retention กับธนาคารเดิมก็ได้

3.เลือกอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีที่น้อยที่สุด

อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีที่น้อยที่สุดมักจะเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (MRR-xx) ซึ่งอันนี้เราคิดว่าขึ้นอยู่กับคน ถ้าใครต้องการความแน่นอนจะเลือกแบบคงที่ (Fix Rate) ก็ได้ แต่ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีนักส่วนใหญ่แล้วธนาคารกลางมักจะมีนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ทำให้คนที่เลือกรูปแบบลอยตัวได้ดอกเบี้ยที่ถูกลง แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีความเสี่ยงดอกเบี้ยสูงขึ้นได้เช่นเดียวกันค่ะ

สมมติ

คุณนานิ เดิมผ่อนบ้านกับธนาคาร ก. ยอดเงินต้นจากเดิมอยู่ที่ 5 ล้านบาท
อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีอยู่ที่ 3.5% ต่อปี โดยคุณนานิเสียดอกเบี้ยรวมใน 3 ปีอยู่ที่ประมาณ 510,000 บาท

หลังจากครบ 3 ปี คุณนานิเหลือเงินต้นประมาณ 4,710,000 บาท

หลังจาก 3 ปี อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 5.5% ต่อปี
ซึ่งถ้าคุณนานิไม่ย้ายธนาคาร (Refinance) คุณนานิจะต้องเสียดอกเบี้ยทั้งหมดจนครบอายุสัญญา หักลบกับดอกเบี้ย 3 ปีแรก อยู่ที่ประมาณ 4,334,000 บาท

คิดรวมแล้ว 5,000,000 (เงินต้น) + 4,844,000 (ดอกเบี้ย) = 9,844,000 บาท (ราคาบ้านที่จ่ายจริง)

หากคุณนานิ Refinance โปรแกรม รูปแบบดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี + ค่าจดจำนอง ของธนาคาร A

เงินต้นที่ย้ายธนาคารมา 4,710,000 บาท
อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรก 3.25% ต่อปี
สามารถประหยัดดอกเบี้ยไปได้ประมาณ = 310,900 บาท

**มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับการ Refinance

  • ค่าประเมินราคา = ประมาณ 2,000-3,000 บาท
  • ค่าจดจำนอง 1% ของวงเงินกู้ = 47,100 บาท
  • ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ = 2,355 บาท
  • ค่าประกัน MRTA = แล้วแต่เรทของบริษัทประกันที่ร่วมกับธนาคารนั้นๆ
  • ค่าประกันอัคคีภัย = แล้วแต่เรทของธนาคารนั้นๆ

**แต่ส่วนใหญ่ธนาคารจะมีโปรโมชั่น ฟรีค่าประเมินราคา, ค่าอากรแสตมป์ เป็นต้น

หากคุณนานิ Refinance โปรแกรม รูปแบบดอกเบี้ยลอยตัว ฟรีค่าจดจำนอง ของธนาคาร B

เงินต้นที่ย้ายธนาคารมา 4,710,000 บาท
อัตราดอกเบี้ย

  • ปีที่ 1 = MRR – 4.30 = 6.87 – 4.30 = 2.57%
  • ปีที่ 2 = MRR – 3.55 = 6.87 – 3.55 = 3.32%
  • ปีที่ 3 = MRR – 3.55 = 6.87 – 3.55 = 3.32%
  • เฉลี่ยดอกเบี้ย 3 ปี = 3.07% ต่อปี

สามารถประหยัดดอกเบี้ยไปได้ประมาณ = 337,100 บาท

**มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับการ Refinance

  • ค่าประเมินราคา = ประมาณ 2,000-3,000 บาท
  • ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ = 2,355 บาท
  • ค่าประกัน MRTA = แล้วแต่เรทของบริษัทประกันที่ร่วมกับธนาคารนั้นๆ
  • ค่าประกันอัคคีภัย = แล้วแต่เรทของธนาคารนั้นๆ

**ดูแล้ว โปรแกรม รูปแบบดอกเบี้ยลอยตัว ฟรีค่าจดจำนอง ของธนาคาร B ลดดอกเบี้ยได้ดีสุดแต่ก็แลกมากับการต้องอยู่กับธนาคาร B เป็นเวลา 5 ปี เช่นเดียวกันนะคะ

Cr. https://thinkofliving.com/คู่มือซื้อขาย/ผ่อนบ้านอย่างไรเสีย-ดอกเบี้ยน้อยที่สุด-611048/

ARE YOU INTERESTED

IT'S TIME TO DISCOVER

THE BUILDING

BUILDING LOCATION

Motivation can take you far, but it can take you even further if you first find your vision. Your vision will motivate and guide you on

ADDRESS:

Logan Barker, 865 Oak Boulevard, Elk Grove, Vermont 95184
Phone:

012-345-6789

E-mail:

email.support@maisonco.com

CONTACT AGENT

William Jacobs

CERTIFIED AGENT

ENQUIRE

©trangvillage. All rights reserved.